ทางจำเป็น

ความหมายของคำว่า "ทางจำเป็น" คำว่าทางจำเป็นไม่มีคำนิยามอย่างเช่นกับคำว่าทางสาธารณะแต่ 

ป.พ.พ. มาตรา 1349 บัญญัติว่า "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้"

ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้ แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ

ที่และวิธีทำทางผ่าน นั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้

คำว่า ที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ มีความหมายอย่างไร หมายความว่าที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งถูกปิดล้อมอยู่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ (ที่ดินตาบอด) อาจจะถูกปิดล้อมด้วยที่ดินแปลงเดียวเจ้าของเดียว หรืออาจถูกปิดล้อมด้วยที่ดินหลายแปลง มีหลายเจ้าของก็ได้ ซึ่งข้อสาระสำคัญนั้นอยู่ที่ว่าที่ดินแปลงที่ถูกปิดล้อมนั้นไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทางจำเป็นนั้นอาจต้องฟ้องเจ้าของที่ดินหลายๆแปลงเป็นจำเลยขอให้เปิดทาง 

ข้อยกเว้น เรื่องทางจำเป็น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 "ถ้าที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นมีสิทธิเรียกร้องเอาทางได้เฉพาะบนที่ดินที่ได้แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันและไม่ต้องเสียค่าทดแทน" หมายความว่า เดิมที่ดินอาจมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว แต่ต่อมามีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันแล้วทำให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะเช่นนี้ ที่ดินแปลงที่ถูกปิดล้อมอยู่คงมีสิทธิฟ้องได้เฉพาะที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนเท่านั้นแต่จะไปฟ้องเพื่อหาทางออกกับเจ้าของที่ดินแปลงอื่นๆข้างเคียงย่อมไม่ได้

ทางจำเป็นมีขนาดกว้างยาวเพียงไร

ความยาว ความยาวของทางจำเป็นต้องสามารถออกสู่ทางสาธารณะได้ ดังนั้นความยาวของทางจำเป็นจึงขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นจริงแห่งที่ดิน

ความกว้าง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 ทางจำเป็นต้องเลือกทำพอสมควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน โดยให้เสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุด เปิดทางกว้าง 5 เมตรเหมาะสมแล้ว จะนำประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ให้เปิดทางกว้าง 8 เมตรมาอ้างไม่ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370/2520) 

ใครบ้างเป็นผู้มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น ผู้มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นได้แก่

1) เจ้าของที่ดินซึ่งถูกปิดล้อม (ผู้เช่า ผู้อาศัย หรือเพียงผู้ครอบครอง เจ้าของโรงเรือนซึ่งมิใช่เจ้าของที่ดินไม่มีสิทธิที่จะฟ้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 517/2509)

2) ผู้รับโอนที่ดินซึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ

3) เจ้าของที่ดินจรดคลองตื้นเขินประชาชนไม่สามารถใช้เป็นทางสัญจรไปมานานแล้ว หาทางอื่นออกไม่ได้จึงใช้ทางจำเป็นผ่านที่ล้อมได้

สิทธิในการใช้ทางจำเป็น

ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็น มีสิทธิใช้ยานพาหนะผ่านทางจำเป็นในสภาพที่เป็นถนนได้ ไม่ถูกจำกัดให้ใช้เป็นทางเดินอย่างเดียว (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2516)

ผู้รับโอนที่ดิน ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะย่อมมีสิทธิตาม ปพ.พ. มาตรา 1349 ที่จะขอผ่านทางที่สะดวกและใกล้ทางสาธารณะเหมาะสมกับความจำเป็นกว่าทางอื่น ซึ่งเจ้าของที่ดินเคยใช้มาก่อน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2324/2516)

ที่ดินจรดคลอง แต่คลองตื้นเขินประชาชนไม่สามารถใช้เป็นทางสัญจรไปมานานแล้วทางอื่นออกไม่ได้จึงใช้ทางจำเป็นผ่านที่ดินล้อมได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2520)

เรื่องค่าทดแทน

เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่มีสิทธิในอันที่จะได้รับเงินทดแทนจากเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อม ซึ่งขอเปิดทาง ข้อยกเว้น! ถ้าหากที่ดินแบ่งแยกหรือโอนกันเป็นเหตุให้ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเจ้าของที่ดินแปลงนั้นซึ่งถูกล้อมมีสิทธิเรียกร้องเอาทางเดินเฉพาะบนที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนและไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ป.พ.พ. มาตรา 1350

อายุความ 

การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นไม่มีอายุความจำกัดไว้ จะฟ้องเมื่อใดก็ได้

การยื่นคำฟ้องเรื่องทางจำเป็นต่อศาล

1) การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นนั้นถือว่าเป็นคดีมีข้อพิพาท จึงต้องทำเป็นคำฟ้อง จะทำเป็นคำร้องไม่ได้

2) ในทางปฏิบัติโจทก์ควรเลือกฟ้องยังศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่

3) การฟ้องคดีจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) 200 บาท 

ประเด็นข้อพิพาทและภาระการพิสูจน์ ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องทางจำเป็นศาลอาจกำหนดประเด็นได้คือ

1) ทางที่โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นนั้นเป็นทางจำเป็นหรือไม่

2) โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะกว้าง 4 เมตรตามฟ้องหรือไม่

3) ทางพิพาทมีความกว้างเพียงใด

4) จำเลยสมควรได้รับค่าทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่ที่มีเหตุที่มีทางผ่านเพียงใด

ข้อ 1) ถึง 3) โจทก์กล่าวอ้าง จึงมีหน้าที่นำสืบ

ส่วนข้อ 4) จำเลยเรียกค่าทดแทนเพื่อความเสียหายจำเลยต้องฟ้องแย้งเข้ามาในคดี จำเลยจึงต้องสืบประเด็นดังกล่าวเพื่อขอค่าทดแทน

กรณีถูกปิดกั้นทางจำเป็น 

หากถูกปิดกั้นทางจำเป็น โจทก์มีสิทธิยื่นคำฟ้องพร้อมคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปิดกั้นนั้นเสีย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของโจทก์

ประเด็นการจดทะเบียนทางจำเป็น ทางจำเป็นไม่จำต้องจดทะเบียนสิทธิที่สำนักงานที่ดินอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2536 ที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยอยู่ติดกัน ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของจำเลยและที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เมื่อปรากฏว่าหากโจทก์จะออกสู่ทางสาธารณะ ทางที่ใกล้ที่สุดจะต้องผ่านที่ดินของจำเลยตามที่พิพาท โจทก์จึงมีสิทธิจะใช้ที่พิพาทเป็นทางจำเป็นผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 เมื่อที่พิพาทเป็นทางจำเป็น โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวโดยอำนาจของกฎหมายไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนอีก 

ประเด็นการกำหนดความกว้างของทางจำเป็น ไม่มีกำหนดเเน่นอน อยู่ที่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2536 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรค 3 ที่บัญญัติว่า ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป้น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้นั้น ความพอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิขอผ่านจะมีแค่ไหน เพียงไร เป็นปัญหาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

กรณีวินิจฉัยว่าเป็นทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2535 โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีอำนาจฟ้องให้จำเลยเปิดทางพิพาทที่โจทก์อ้างว่าตกเป็นทางจำเป็นได้โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ครอบครองทางพิพาท 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3241/2530 ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินของบุคคลอื่นล้อมอยู่ ทางออกสู่ทางสาธารณะอีก 3 ทาง มีลักษณะคดเคี้ยว ระยะทางไกลกว่าทางพิพาทต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นหลายแปลง และต้องผ่านที่นามีน้ำเจิ่งเต็มทางพิพาทมีความเหมาะสมกว่า ทั้งยังความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยที่สุด โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2454/2536 ที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยอยู่ติดกัน ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของจำเลยและที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ เมื่อปรากฏว่าหากโจทก์จะออกสู่ทางสาธารณะ ทางที่ใกล้ที่สุดจะต้องผ่านที่ดินของจำเลยตามที่พิพาท โจทก์จึงมีสิทธิจะใช้ที่พิพาทเป็นทางจำเป็นผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 เมื่อที่พิพาทเป็นทางจำเป็น โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้ทางดังกล่าวโดยอำนาจของกฎหมายไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนอีก 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2536 โจทก์ปลูกบ้านอยู่ในที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ที่ดินแปลงดังกล่าวมีที่ดินของผู้อื่นล้อมอยู่ทุกด้านรวมทั้งที่ดินของจำเลยด้านทิศใต้ซึ่งอยู่ติดกับทางสาธารณะโจทก์ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะมาแล้ว 30 ปีเศษ แม้จะปรากฏว่าโจทก์ใช้ทางเดินตามแนวคันนาด้านทิศตะวันออกผ่านที่ดินของบุคคลอื่นบ้าง ก็ต้องถือว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมที่ดินของโจทก์อยู่ โจทก์จึงมีสิทธิใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2315/2538 นอกจากทางพิพาทแล้วโจทก์ยังมีทางเดินริมเขื่อนที่ออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ทางดังกล่าวทางด้านซ้ายจะต้องผ่านที่ดินของบุคคลอื่นซึ่งมีประตูถ้าเจ้าของที่ดินปิดประตูโจทก์ก็ไม่สามารถใช้ทางดังกล่าวได้ส่วนทางด้านขวาจะต้องข้ามคลองไปตามคานคอนกรีตเล็กๆผู้เดินอาจตกลงไปในคลองได้จึงไม่ปลอดภัยดังนั้นทางพิพาทยังมีความจำเป็นแก่โจทก์ที่จะใช้ออกสู่ทางสาธารณะอยู่

กรณีวินิจฉัยว่าไม่เป็นทางจำเป็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2073/2520 เรื่องทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมโดยเฉพาะ ดังนั้น เจ้าของที่ดินเท่านั้นจะมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็น
ที่ดินของ ม.ที่โจทก์ปลูกเรือนอยู่อาศัยจดทางสาธารณะ แต่ ม.ปลูกห้องแถวกั้นเสีย จึงเข้าออกทางนี้ไม่ได้ เช่นนี้ จะถือว่าที่ดินของ ม.ตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่น และมาร้องขอให้ศาลบังคับเจ้าของที่ดินให้เปิดทางจำเป็นไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2523 ที่ดินที่โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและตกลงจะทำการแบ่งแยกนั้น ส่วนของโจทก์อยู่ติดแม่น้ำ ส่วนของจำเลยอยู่ติดถนนจึงไม่มีความจำเป็นที่โจทก์จะผ่านที่ดินส่วนของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะกรณีที่จะใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง บังคับต้องเป็นกรณีที่มีทางออกถึงทางสาธารณะแต่การออกไปสู่ทาง สาธารณะมีสิ่งอื่นตามที่ กฎหมายกำหนดไว้ขวางกั้นจึงจะมีทางจำเป็นผ่านที่ดินแปลงอื่นไปสู่ทางสาธารณะได้ 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5661/2542 ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่ หรือมีการแบ่งโอนที่ดินกันเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะได้ อันเป็นความสำคัญในเรื่องขอให้เปิดทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 และ1350 ฟ้องโจทก์จึงไม่มีประเด็นในเรื่องทางจำเป็น โจทก์เพียงอ้างว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทผ่านเข้าออกเกิน 10 ปี จนได้ภารจำยอม ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมหรือไม่เท่านั้นเมื่อได้ความว่า ทางพิพาทมิใช่ทางภารจำยอม ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นและบังคับให้จำเลยที่ 1รื้อถอนสิ่งปิดกั้นทางพิพาทให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นและเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 

 

เป็นโจทก์ฟ้องคดีทางจำเป็น หรือถูกฟ้องเป็นจำเลย

ทางสำนักงานของเรา ยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ปรึกษาทนายณัฐวุฒิ อักษร Tel. 098-8275510

ติดต่อทางไลน์ เเอดไลน์ -> Line ID : lawyer37 

 

 

 

Visitors: 64,134