จดทะเบียนรับรองบุตร ปรึกษา ทนายณัฐวุฒิ โทร 0988275510
การรับรองบุตร
เนื่องจากกฎหมายถือว่าเด็กซึ่งเกิดจากหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับชาย เป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของหญิงฝ่ายเดียวเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546
ดังนั้นเด็กที่เกิดมาจึงเป็น "บุตรนอกสมรส" หรือ "บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา" แต่กฎหมายเปิดช่องทางที่จะทำให้บุตรนอกสมรส เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา มีอยู่ 3 วิธี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1547 ได้แก่
- บิดามารดาได้สมรสกันภายหลัง
- บิดาได้จดทะเบียนว่าเด็กเป็นบุตร
- ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
เพียงแต่บิดาให้บุตรใช้นามสกุลของบิดา และบิดาอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์อย่างบิดากับบุตร ยังไม่ถือว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 452/2553 ป.พ.พ มาตรา 1547 บัญญัติว่า เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อ บิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร ดังนี้ พฤติการณ์รับรองว่าผู้เยาว์เป็นบุตร เช่น การให้ผู้เยาว์ใช้ชื่อสกุลของจำเลย และการที่จำเลยอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อย่างบิดากับบุตรจึงไม่ใช่เหตุที่กฎหมายรับรองทำให้ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์
การจดทะเบียนรับรองบุตร
ให้บิดายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียนณที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตกรณีมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และต้องได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็กด้วยพร้อมกัน
ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตร หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น เด็กยังเล็กเกินไปที่จะให้ความยินยอม หรือ มารดาเด็กเสียชีวิต กรณีนี้การจดทะเบียนรับรองบุตรจะต้องมีคำพิพากษาเสียก่อน จึงจะนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนรับรองบุตรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1548
*ทะเบียนบุตร ในที่นี้หมายถึง ทะเบียนครอบครัวไม่ใช่ทะเบียนบ้าน ทะเบียนครอบครัวสำหรับจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร คือ ทะเบียน คร.9 ออกตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2478 ฉบับที่ 2
ป.พ.พ. มาตรา 1548 บัญญัติว่า บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อ เมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก
ในกรณีที่เด็กและมารดาเด็กไม่ได้มาให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน ให้นายทะเบียนแจ้งการขอจดทะเบียนของบิดาไปยังเด็กและมารดาเด็ก ถ้า เด็กหรือมารดาเด็กไม่คัดค้านหรือไม่ให้ความยินยอมภายในหกสิบวันนับแต่การ แจ้งนั้นถึงเด็กหรือมารดาเด็ก ให้สันนิษฐานว่าเด็กหรือมารดาเด็กไม่ให้ความยินยอม ถ้าเด็กหรือมารดาเด็กอยู่นอกประเทศไทยให้ขยายเวลานั้นเป็นหนึ่งร้อยแปดสิบวัน
ในกรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตร ต้องมีคำพิพากษาของศาล
เมื่อศาลได้พิพากษาให้บิดาจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรได้ และบิดาได้นำคำพิพากษาไปขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนให้
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอจดทะเบียนรับรองบุตร
ต้องเป็นบิดาที่แท้จริงของเด็ก โดยผู้ร้อง(บิดา)เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดในเขตศาล หรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
*คดีขอจดทะเบียนรับรองบุตรเป็นคดีครอบครัว ให้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว
เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร (กรณีมารดาให้ความยินยอม/มารดาเสียชีวิต)
- บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา มารดา
- ทะเบียนบ้านบิดา มารดาและบุตร
- สูติบัตรบุตร
- ภาพถ่ายแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดาและบุตร
- หนังสือให้ความยินยอมของมารดา
- หนังสือสำคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ของบิดา มารดา หรือบุตร (ถ้ามี)
- ใบมรณบัตรมารดา (กรณีมารดาเสียชีวิตแล้ว)
- ใบสำคัญการหย่าของมารดา (กรณีมารดาเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน)
หมายเหตุ : ในการยื่นคำร้องใช้สำเนาเอกสาร แต่ต้องนำเอกสารตัวจริงมาแสดงต่อศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง
ขั้นตอนยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร(กรณีมารดาให้ความยินยอม/มารดาเสียชีวิต)
- ร่างคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร
- ยื่นคำร้องที่งานรับฟ้องคดีแพ่ง ศาลจะนัดไต่สวนคำร้องไม่น้อยกว่า 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้อง
- ผู้ร้องต้องนำบุตร และมารดาของบุตร ไปให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจฯภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้อง โดยโทรศัพท์นัดวันกับเจ้าหน้าที่สถานพินิจฯ เพื่อไปให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจ
- บิดา มารดาและบุตร ไปให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ตามที่ได้โทรนัดหมายกับเจ้าหน้าที่ฯไว้
- บิดามารดาและบุตรไปศาลตามวันที่ศาลนัดไต่สวนคำร้อง และต้องนำเอกสารตัวจริงมาแสดงต่อศาลด้วย
- หลังจากศาลมีคำสั่งอนุญาตต้องรอคดีถึงที่สุด 1 เดือน แล้วคัดถ่ายคำสั่งศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด
- นำสำเนาคำสั่งศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ไปยื่นขอจดทะเบียนรับรองบุตร ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตต่อไป
ผลทางกฎหมายของการจดทะเบียนรับรองบุตร
เมื่อมีการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนดังกล่าวจะมีผลย้อนไปถึงวันที่เด็กเกิด เด็กและบิดาย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างสมบูรณ์และมีผลดังนี้
- บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกับมารดา มีอำนาจตกลงกับมารดาเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองบุตรตาม ป.พ.พ. มาตรา 1537
- บิดาและบุตรต่างมีสิทธิรับมรดกซึ่งกันและกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629
- บิดาและบุตรต่างมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูแลซึ่งกันและกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1563
- หากมีบุคคลใดทำละเมิดเป็นเหตุให้บิดาและบุตรถึงแก่ความตาย บุตรหรือบิดาแล้วแต่กรณีย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการขาดไร้ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูได้
- กรณีบุตรผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา บิดาก็มีอำนาจจัดการแทนได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (1)
ต้องการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตร
(กรณีมารดาให้ความยินยอม/มารดาเสียชีวิต)
ทางสำนักงานของเรา ยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ปรึกษาทนายณัฐวุฒิ อักษร Tel. 098-8275510
ติดต่อทางไลน์ เเอดไลน์ -> Line ID : lawyer37