การให้ข้อมูลที่สำคัญฯ มาตรา 100/2 พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษ

กรณีศาลลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด มาตรา 100/1 และ มาตรา 100/2 

พรบ ยาเสพติดให้โทษ มาตรา 100/1 และ มาตรา 100/2

มาตรา 100/1 ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ

ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำความผิดของผู้ใด เมื่อได้พิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว กรณีมีเหตุอันสมควรเป็นการเฉพาะรายศาลจะลงโทษปรับน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้

มาตรา 100/2 ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้

(มาตรา 100/1 และมาตรา 100/2 เพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 แห่งมาตรา 36)

การให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตามมาตรา 100/2

ประเด็นที่สำคัญมีดังนี้

ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่ได้จากคดีนั้น คืออะไร และมีข้อกำหนดอย่างไร?

1) ข้อเท็จจริงนั้นทำให้มีการจับผู้กระทำผิดที่แท้จริงหรือเป็นรายใหญ่ และต้องมิใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไป โดยอาจจะได้จาก   บันทึกการจับกุม   คำให้การในชั้นสอบสวน    หรือจากคำเบิกความในชั้นศาล (ฎีกาที่ 4597/2550, 1904/2551)

2) ไม่ได้กำหนดว่าต้องให้ข้อมูลในระยะเวลาใดหลังจากที่ถูกจับกุม แต่ต้องควรยกขึ้นมาเบิกความตั้งแต่ศาลชั้นต้น (ฎีกาที่ 1904/2551, 2254/2558)

3) ใช้ได้ทั้งกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธก็ได้ 

4) เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตนเองและได้ของกลางเพิ่มก็ได้ เมื่อถูกจับแล้วแจ้งว่ายังมีของกลางซุกซ่อนอยู่อีก เนื่องจากของกลางเป็นหลักฐานสำคัญในคดี และเป็นการลดการระบาดของยาเสพติดได้ด้วย แต่ต้องไม่ใช่เป็นกรณีที่ตรวจค้นพบได้โดยง่าย (ฎีกาที่ 1361/2549, 526/2551)

5) กรณีที่ค้นพบได้โดยง่ายเช่น วางไว้ในเปิดเผยในบ้าน พาไปยึดเงินที่ได้จากการขายถือว่าเป็นข้อมูลที่เจ้าพนักงานรู้ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ศาลไม่ให้ มาตรา 100/2 (ฎีกาที่ 4941/2550, 9200/2558)

6) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดอื่น ต้องไม่ใช่ข้อมูลที่เจ้าพนักงานรู้อยู่แล้วหรือสืบทราบมาก่อน หรือสืบสวนหาข่าวทราบอยู่แล้ว และต้องมีการขยายผลจนสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นได้ (ฎีกาที่ 5329/2552, 1874/2553)

7) ให้ข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับ ชื่อ ภูมิลำเนา ที่อยู่ รูปพรรณสัณฐาน ชี้ยืนยันรูปถ่ายผู้ว่าจ้าง หรือผู้ร่วมกระทำความผิด จนสามารถออกหมายจับตามที่ให้ข้อมูลได้ถือว่าได้ตามมาตรา 100/2 (ฎีกาที่ 3312/2548)

8) ต้องเป็นผลโดยตรงให้จับกุมคดีอื่นได้ หรือเจ้าพนักงานต้องได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวขยายผลการจับกุม (ฎีกาที่ 6408/2549, 6637/2554)

9) ข้อมูลเบาะแสที่ให้นั้นต้องทำให้จับกุมคนอื่น หรือเป็นสายลับล่อซื้อจนได้ของกลางเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่อยู่ในวิสัยที่เจ้าพนักงานจะตรวจค้นเองได้โดยง่าย (ฎีกาที่ 5856/2549, 12070/2554)

10) ขยายผลแล้วจับกุมผู้กระทำความผิดได้ยาเสพติดของกลางน้อยกว่าเดิมก็ยังได้ (ฎีกาที่ 987/2551)

11) บางคนให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ บางคนไม่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ศาลลดโทษให้คนเดียว (ฎีกาที่ 2495/2550)

กรณีต่อไปนี้ไม่ถือเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตามมาตรา 100/2

1) เพียงแต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นมาลอยๆ โดยไม่ได้มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างให้ศาลเห็นว่าได้ให้ข้อมูลที่สำคัญต่อพนักงาน (ฎีกาที่ 7264/2547)

2) ได้ให้ข้อมูลว่าซื้อยาเสพติดมาจากใคร ให้เบอร์โทรศัพท์ และนำไปชี้บ้าน แต่ไม่ปรากฏว่ามีการขยายผลจับกุมได้ (ฎีกาที่ 7726/2547, 3516/2549)

3) กรณีเป็นห้องพักหรือบ้านที่ตำรวจสามารถไปตรวจค้นตามปกติอยู่แล้วเนื่องจากมีที่อยู่แน่นอน หรือพบกุญแจห้องพักที่จำเลยและตรวจค้นได้โดยง่าย ไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญ  (ฎีกาที่ 6550/2549, 2049/2551)

แนวทางปฎิบัติ และวิธีการไต่สวนของศาลและผลของการไต่สวน

1) ต้องยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น หมายถึงต้องมีการสืบพยานถึงการให้ข้อมูลที่สำคัญตามมาตรา 100/2 ไว้ หากไม่ได้สืบพยานให้ข้อเท็จจริงปรากฎไว้ ห้ามมิให้อุทธรณ์ขอลดโทษ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3

2) ยื่นคำร้องของไต่สวนตามมาตรา 100/2 ก่อนวันสืบพยาน

3) เมื่อได้ความว่าจำเลยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์แล้ว ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลยพินิจของศาล (แต่ส่วนใหญ่ศาลจะลดโทษให้) (ฎีกาที่ 2769/2550, 1904/2551)

4) มาตรา 100/2 ใช้สำหรับลดโทษจำคุกเท่านั้น กรณีลดโทษปรับต้องใช้ มาตรา 100/1 ศาลจะพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิดและพฤติการณ์การกระทำความผิด อาจจะพิจารณาลดโทษปรับได้

 

ตัวอย่างคำร้องขอไต่สวนมาตรา 100/2 พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

 

ข้อ 1. คดีนี้ศาลได้โปรดนัดพร้อมสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ และจำเลยสำนึกในการกระทำความผิด ได้ยื่น คำให้การรับสารภาพ ดังความปรากฎในสำนวนแล้วนั้น 

ข้อ 2. เนื่องจากจำเลยได้รู้สึกสำนึกในความผิดที่ได้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติดและรู้สึกเข็ดหลาบเป็นอย่างยิ่ง จึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะช่วยเหลือทางราชการ ในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ ซึ่งภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 จำเลยได้ให้ข้อมูลกับพันตำรวจโทซื่อตรง ปราบปรามดี เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. เลขประจำตัว 61xxxx  เจ้าหน้าที่ตำรวจหัวหน้าชุดจับกุม ถือได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อทางราชการในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้า) อย่างยิ่ง อีกทั้ง ยังเป็นข้อมูลที่มีความชัดเจน และมีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดรายอื่น อันเป็นที่มาหรือการขยายผลนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำผิดที่มีตัวตนอยู่จริง จึงเป็นการตัดตอนการจำหน่ายยาเสพติดได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยได้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สำคัญแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 "ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้" ฉะนั้น ตามมาตรานี้ เป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดร้ายแรงกว่าตนเอง หรือนำไปสู่การยึดของกลางยาเสพติดจำนวนมากได้ จึงย่อมถือได้ว่าเป็นการให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ เพราะจากข้อมูลของจำเลยก็นำไปสู่การขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดรายอื่นได้ คือ นายชอบขาย ของดี พร้อมของกลางยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีนหรือยาไอซ์) จำนวนสูงถึง 18 กรัม และยาบ้าอีก 50 เม็ด รายละเอียดปรากฏตาม บันทึกการจับกุม, คำร้องฝากขัง, คำให้การในชั้นสอบสวน, หนังสือรับรองการขยายผล เอกสารแนบท้ายคำร้องฉบับนี้         

                    ขอศาลได้โปรดทำการไต่สวนการช่วยเหลือเจ้าพนักงานตำรวจของจำเลย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 100/2 ด้วย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอศาลที่เคารพได้โปรดอนุญาต                                                                                                               ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด                                        

                                                             ลงชื่อ                                                       ทนายจำเลย                                                คำร้องฉบับนี้ข้าพเจ้านายณัฐวุฒิ อักษร ทนายจำเลย เป็นผู้เรียงและพิมพ์                                      

                                                             ลงชื่อ                                                       ผู้เรียงและพิมพ์                 

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

กรณีที่ถือว่าให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตามมาตรา 100/2

ฎีกาที่ 1904/2551 สำเนาบันทึกการจับกุมและสำเนาคำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยที่ 2 กับพวก เอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันเกิดเหตุหลังจากที่จำเลยที่ 2 กับพวกถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกให้การรับสารภาพว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก ถ. และสมัครใจเป็นสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถล่อซื้อจับกุม ถ. พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 570 เม็ด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน จึงเห็นสมควรวางโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

ฎีกาที่ 5856/2549 การที่จำเลยให้ข้อมูลและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ซุกซ่อนไว้ ทำให้ได้พยานหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีแก่จำเลยรวมทั้งยังทำให้เมทแอมเฟตามีนของกลางไม่มีโอกาสแพร่ระบาดต่อไปอีก นับว่าได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ สมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ฎีกาที่ 3312/2548 ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า ได้ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจาก ว. ในราคาถุงละ 6,000 บาท เพื่อนำไปจำหน่ายในราคาถุงละ 8,000 บาท เจ้าพนักงานตำรวจจึงนำสำเนาภาพถ่ายตามบัตรประจำตัวประชาชนของ ว. ให้จำเลยดู จำเลยรับรองว่าเป็นภาพถ่ายของ ว. จริง จนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจได้ออกหมายจับ ว. ไว้ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

 

ฎีกาที่ 2495/2550 จำเลยที่ 2 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 3 และยืนยันภาพถ่ายของจำเลยที่ 3 ที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาให้ดู เป็นเหตุให้จับกุมจำเลยที่ 3 มาดำเนินคดีได้ นับว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ในชั้นสอบสวนนอกจากจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังให้การด้วยว่า ไม่เห็นการส่งมอบและผู้ที่ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 2 และไม่ทราบว่ามีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันอย่างไร ทั้งไม่รู้จักจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 เป็นชาวเขาเผ่าม้ง มีความรู้เพียงเขียนชื่อตนเองได้ แต่อ่านหนังสือไม่ออก และไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยมากนัก ทำให้ไม่ค่อยได้ตอบคำถามของพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาเข้าใจภาษาไทยได้ดีกว่าจะเป็นคนตอบแทน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ปรึกษากันเป็นภาษาม้งก่อนแล้วนั้น จำเลยที่ 1 มิได้มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ทั้งยังขัดกับคำให้การปฏิเสธของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจร่วมกับจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้

กรณีที่ถือว่าไม่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตามมาตรา 100/2

ฎีกาที่ 531/2548 แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนาย ก. ในราคาถุงละ 8,500 บาท แล้วนำมาแบ่งจำหน่าย และจำเลยที่ 1 ได้บอกตำหนิรูปพรรณของนาย ก. แก่พนักงานสอบสวนด้วยก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่านาย ก. ที่จำเลยที่ 1 อ้างมีตัวตนจริงหรือไม่ และได้มีการขยายผลจับกุมนาย ก. ได้หรือไม่อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าการให้การดังกล่าวเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 ได้

ฎีกาที่ 6550/2549 แม้จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลเบาะแสถึงเฮโรอีนของกลางซึ่งพยานโจทก์ไม่มีผู้ใดรู้เห็นและทราบมาก่อน ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจใช้เวลาตรวจค้นจนกระทั่งพบเฮโรอีนของกลางเพียงประมาณครึ่งชั่วโมง ลักษณะการซุกซ่อนเฮโรอีนของกลางภายในห้องพักของจำเลยที่ 1 ย่อมอยู่ในวิสัยที่เจ้าพนักงานตำรวจจะสามารถค้นพบได้จากการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จึงมิใช่ผลโดยตรงจากการแจ้งเบาะแสของจำเลยที่ 1 ไม่อาจนับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้สมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2

 

ตกเป็นผู้ต้องหา หรือถูกฟ้องเป็นจำเลย คดียาเสพติด

ปรึกษาการทำการขยายผล เพื่อขอลดโทษตามมาตรา 100/2

ทางสำนักงานของเรา ยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ปรึกษาทนายณัฐวุฒิ อักษร Tel. 098-8275510

ติดต่อทางไลน์ เเอดไลน์ -> Line ID : lawyer37 

 

 

Visitors: 64,145